วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

2 กระชาย [สมุนไพรไทย 200 ชนิด]

2 กระชาย [สมุนไพรไทย 200 ชนิด]


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia pundurata (R0xb) Schitr
ชื่อท้องถิ่น : กะแอน ระแอน(ภาคเหนือ) ขิงทรา(มหาสารคาม)
ว่านพระอาทิตย์(กรุงเทพฯ)
กระชายเป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 2 ศอกเศษ
มีลำต้นใต้ดิน เรียกว่าเหง้า รูปทรงกระบอกเนื้อสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะ
เนื้อละเอียด กาบใบสีแดงเรื่อ ใบใหญ่ยาวเรียว ดอกเป็นช่อ

ส่วนที่ใช้เป็นยา » เหง้าใต้ดิน
กระชายเป็นไม้ล้มลุก สูงราว 1-2 ศอก มีลำต้นเป็นเหง้าใต้ดิน สีน้ำตาลเข้ม ขนานกับดิน มีราก รูปทรงกระบอก ปลายแหลมจำนวนมาก เนื้อในสีเหลือง มีกลิ่น หอม เฉพาะกาบใบ มีสีแดงเรื่อ ใบใหญ่ยาวรีปลายแหลม ดอกเป็นช่อ สีขาวอมชมพู บานครั้งละ 1 ดอก ปลูกในฤดูแล้ง โดยใช้เหง้าและราก
มีรสเผ็ดร้อน ช่วยดับกลิ่นคาวได้ดี ปรุงเป็นอาหารหลายชนิด เช่นน้ำยาขนมจีน แกงป่าปลา ปลาร้าหลน กะปิคั่ว แกงขี้เหล็ก รับประทานอาหารที่มีกระชายอยู่ด้วย จะช่วยขับลมได้ดี แก้ปวดมวนในท้อง แก้ท้องอืด เฟ้อ บำรุงกำลัง

สรรพคุณ กระชาย

1. แก้บิด ท้องร่วง ท้องเสีย นำรากกระชายย่างไฟให้สุก ตำให้ละเอียดผสมน้ำปูนใสในอัตราส่วน กระชายแก่ 4 หัว ต่อน้ำปูนใส 5 ช้อนแกง คนให้เข้ากันดีแล้วคั้นเอาแต่น้ำดื่มครั้งละ 3-5 ช้อนแกง ทุกครั้งที่ถ่าย เมื่ออาการดีขึ้นให้กินวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น เมื่อหายแล้วกินต่ออีก 1-2 วัน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
2. รักษาโรคริดสีดวงทวาร ต้มกระชายพร้อมมะขามเปียก เติมเกลือแกงเล็กน้อย รับประทานก่อนนอนทุกวัน
3. ช่วยบำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ ตำรากกระชาย 1 กำมือให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ผสมกับน้ำผึ้งในอัตราส่วนที่เท่ากัน รับประทานก่อนอาหารเย็น 1 ชั่วโมง ครั้งละประมาณ 1 ถ้วยชา
4. ช่วยบำรุงหัวใจ กระตุ้นให้หัวใจเต้นสม่ำเสมอ นำรากกระชายแก่ ปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็ก ตากแดดให้แห้ง บดให้เป็นผงเก็บไว้ละลายกับน้ำร้อนดื่มแก้อาการเป็นลม
5. ไล่แมลง ใช้รากกระชาย ตะไคร้ หอมแดง ข่า ใบสะเดาแก่ ตำผสมกัน ผสมน้ำฉีดในบริเวณที่มีแมลงรบกวน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น